เกษตรกรโคราช “ปลูกผักกูด” สร้างรายได้วันละ 600-1,000 บาท

ในปัจจุบันอาชีพเกษตรกรก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนอยากทำ เนื่องจากมีพื้นที่และได้ทำงานอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง โดยผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคองได้มีการแนะวิธีการปลูกผักกูดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรโคราชได้มีการปลูกมา 8 เดือน สามารถสร้างรายได้วันละ 600-1,000 บาท

นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง วว. ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกผักกูดของสถานีวิจัยลำตะคอง วว. ว่า ผักกูด เป็นพืชตระกูลเดียวกับเฟิร์น ลักษณะของต้นผักกูดจะขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร

เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย ในสภาพมีความชื้นสูง แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผักกูดจะต้องปลูกในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกและความชื้นค่อนข้างสูง อย่างภาคใต้และภาคตะวันออก

แต่จากการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการปลูกผักกูดในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พิสูจน์ให้เห็นว่า การปลูกผักกูดให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องปลูกในสภาพแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง หากเราจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตก็สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

สำหรับรูปแบบของการปลูกผักกูดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1.การปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เพื่อช่วยในการพรางแสง เช่น การปลูกร่วมกับกล้วย หรือปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น

2.ปลูกภายใต้ร่มเงาตาข่ายพรางแสงหรือซาแลนที่สามารถพรางแสงได้ตั้งแต่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ระยะปลูกที่ใช้ระหว่างแถวและระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

การดูแลใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก โดยใส่ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ทุกๆ 3 เดือนต่อครั้ง ร่วมกับการพ่นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ 1-2 ครั้งต่อเดือน ในช่วงที่เริ่มเก็บผลผลิตแล้ว จะช่วยให้ได้ต้นมีการเจริญเติบโตและผลผลิตดีขึ้น

ผอ.สถานีวิจัยลำตะคอง กล่าวเพิ่มว่า หลังปลูกผักกูดประมาณ 6-8 เดือน จึงเริ่มเก็บผลผลิตได้ ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน นอกจากนี้ผักกูดไม่ค่อยมีแมลง จึงเหมาะอย่างยิ่งในการผลิตเป็นพืชผักปลอดสาร

นายอาคม ทัศนะนาคะจิตต์ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เรียกได้ว่าเกษตรกรที่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำในการปลูกผักกูด ตอนนี้ปลูกได้ประมาณ 8 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว แต่ละวันจะเก็บได้ประมาณ 10-15 กิโลกรัม มีคนมารับซื้อถึงหน้าสวน 60 บาทต่อกิโลกรัม

ทำให้มีรายได้เข้ามาวันละประมาณ 600-1,000 บาท และในอนาคตหากช่องทางการตลาดไปได้ดีก็จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และผลิตต้นพันธุ์จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจอยากจะลองปลูกผักกูด

ขอบคุณข้อมูล sentangsedtee เรียบเรียง CHOKYONLINE

error: Content is protected !!